ไฟฟ้า 1 เฟสและ 3 เฟส
ไฟฟ้า คือ พลังงานที่มีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกให้กับเราทุกวันนี้ต่างก็ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพัดลม, แอร์, โทรทัศน์ หรือแม้แต่ระบบรักษาความปลอดภัยในยุคนี้ก็เลือกที่จะใช้เป็นระบบไฟฟ้าเช่นกัน
ระบบไฟฟ้า 1 เฟส คือ ระบบไฟที่ใช้ภายในบ้านเรือน มีการจ่ายไฟที่เหมาะสมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แต่ระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะใช้กับงานด้านอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ ต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก และอาจจะมีการเชื่อมต่อไฟฟ้าเพื่อไปใช้ในอาคารต่างๆ บนพื้นที่เดียวกัน ซึ่งระบบไฟฟ้ามี 2 แบบ ดังนี้
1. แรงดันไฟฟ้า 1 เฟส
ไฟฟ้า 1 เฟส จะให้แรงดันไฟฟ้าที่ 220-230 โวลท์ มีความถี่ที่ 50 Hz โดยจะมีสายไฟที่ประกอบอยู่ 2 สาย คือ สายไลน์(สายเฟส/สายไฟ) จะมีตัวอักษรที่เขียนกำกับอยู่เป็นตัว L (Line) สามารถทดสอบว่ามีไฟหรือไม่ ด้วยไขควงวัดไฟ ถ้าแตะแล้วที่หัวไขควงเกิดการเรืองแสง นั่นหมายถึงว่าสายไฟนั้นมีกำลังไฟไหลผ่านแล้ว ส่วนอีกหนึ่งสาย คือ สายนิวตรอนหรือที่เรียกว่าสายศูนย์จะมีการเขียนกำกับไว้เป็นตัว N (Neutral) สายชนิดนี้จะไม่สามารถใช้ไขควงมาวัดไฟฟ้าได้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า เต้าเสียบปลั๊กไฟ 1 เต้า ภายในบ้านจะมีเพียง 2 ช่อง ถ้าใช้ไขควงตรวจไฟไปเสียบที่รูใดรูหนึ่ง จะปรากฏว่าไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เหมือนกับว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน แต่ถ้ามีการเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแล้วเปิดใช้งาน พอกลับไปตรวจอีกครั้ง ก็ปรากฏว่ามีกระแสไฟไหลผ่านตามปกติ
ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้งานจะต้องมีการเสียบให้ครบทั้ง 2 ช่อง และภายในสายไฟจะมีสายที่ใช้งานร่วมกันอีก 2 สาย ทำให้กระแสไฟครบวงจร ทั้งนี้ยังรวมไปถึงปลั๊กที่มี 3 ช่อง ด้วยเช่นกัน ส่วนช่องที่มีเพิ่มขึ้นมาจะเป็นตัวเสียบของสายดินที่ช่วยป้องกันปัญหาไฟฟ้ารั่วแล้วเกิดอันตรายต่อทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน ระบบไฟฟ้า 1 เฟส จะมีการติดตั้งที่สะดวก ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งน้อย
2. แรงดันไฟฟ้า 3 เฟส
ไฟฟ้า 3 เฟส จะให้แรงดันไฟฟ้าระหว่างสายไลน์กับไลน์ในขนาด 380-400 โวลท์ พร้อมการทำงานของแรงดันไฟฟ้าระหว่างสายไลน์(L)กับสายนิวตรอน(N)ในขนาด 220-230 โวลท์ และมีความถี่ที่ 50Hz โดยมีสายไฟในระบบถึง 4 สาย ที่ประกอบไปด้วยสายไลน์แบบมีไฟ 3 เส้น กับสายนิวตรอนแบบไม่มีไฟ 1 เส้น การทำงานของระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะเน้นเรื่องของแสงสว่าง, อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ในโรงงาน ในความเป็นจริงแล้วระบบไฟฟ้าลักษณะนี้จะนิยมนำไปใช้กับเครื่องจักรอุตสาหกรรมในโรงงานมากกว่าใช้ภายในบ้าน เนื่องด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรมมีแรงดันไฟฟ้าสูง แม้แต่แสงสว่างภายในโรงงานก็ต้องใช้เป็นจำนวนมากและเวลาเปิดก็มักจะเปิดพร้อมกัน แต่ก็ใช่ว่าระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะใช้งานภายในบ้านไม่ได้ เพียงแต่จะต้องไม่ใช้ไฟฟ้า 3 เฟส กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ โดยตรง แต่จะต้องมีการแบ่งใช้ไฟฟ้า 3 เฟส ออกมาเป็น 3 ชุด ชุดละ 1 เฟส แล้วกระจายออกไปตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน เน้นเฉลี่ยการใช้ไฟในแต่ละส่วนที่เท่าๆ กัน ทำให้กระแสไฟมีความสมดุล สามารถใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าและแสงสว่างภายในบ้านได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังทำให้ค่าไฟลดลงอีกด้วย
แต่การใช้ระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะมีขั้นตอนในการขอติดตั้งยุ่งยากและค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่อนข้างสูง เพราะจะต้องจ่ายทั้งค่าประกันไฟฟ้าและค่าติดตั้ง แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้วกลับช่วยเรื่องประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าแบบ 1 เฟสมากพอสมควร เนื่องจากการคิดค่าไฟจะใช้หน่วยเป็นกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงและจะคิดในอัตราก้าวหน้า นั่นหมายความว่าถ้าการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณสูงค่าไฟก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งการใช้ระบบไฟฟ้า 3 เฟส มากระจายออกไปอย่างละ 1 เฟส ก็เท่ากับว่าการใช้ไฟของแต่ละเฟสจะน้อยลง ผิดกับแบบ 1 เฟส ที่ใช้งานอยู่เพียงเฟสเดียว ทำให้ไฟฟ้าที่ใช้มีปริมาณสูงและค่าไฟจึงสูงตามนั่นเอง
เมื่อคุณต้องการที่จะติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในบ้าน แล้วต้องจ้างช่างมาเป็นผู้ติดตั้งหรือซื้อบ้านสำเร็จรูปอยู่ บ้านนั้นก็มักจะถูกติดตั้งเป็นระบบไฟฟ้า 1 เฟส แม้แต่คุณสร้างบ้านอยู่เองถ้าไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ ก็มักจะถูกช่างจับระบบไฟฟ้า 1 เฟส มาติดตั้งให้ทันที! เพราะค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องของการขอติดตั้งก็ง่ายและค่าอุปกรณ์ต่างๆ ก็ไม่สูงมากจนเกินไป ดังนั้นถ้าคุณมีความรู้เรื่องระบบไฟฟ้าที่ถูกต้องก็จะเข้าใจถึงความต้องการของตัวคุณเองและทำให้ประหยัดค่าไฟภายในบ้านได้มากขึ้นอีกด้วย แต่ทั้งนี้คุณก็ต้องพิจารณาเรื่องพื้นที่บ้าน, การใช้ไฟฟ้า และปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เพราะถ้าเป็นบ้านขนาดเล็ก คนอยู่น้อย ก็เท่ากับว่าการใช้ไฟมีไม่สูง จึงควรเลือกติดตั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส ก็เพียงพอแล้ว